แคนา นาฬิเกร์ กับ คุณยายออพโตเมทรี

Dolichandrone  serrulata   (Wall. ex DC.)  Seem  and  KHUNYAI OPTOMETRY

บทความนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก  มะพร้าวนาฬิเกร์  กับทะเลขี้ผึ้ง  ธรรมะบรรยายเมื่อ  วันที่ 28 มีนาคม 2516  โดย พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ)  หรือ  ท่านพุทธทาสภิกขุ 

.

.

บทความเขียนเมื่อ  14/09/2024

ในช่วงยามเย็น  ของทุกวัน  เมื่อผมเสร็จสิ้นจากภารกิจ  ทั้งปวงในคลินิกแล้ว  เก้าอี้สนาม  ( สีเขียว )  ตัวนี้  ถูกผมใช้  เพื่อนั่ง  และได้พิจารณาทบทวนเรื่องราว  ตั้งแต่ตื่นนอนในตอนเช้า  จนกระทั่งตอนเย็นในทุกวัน  ว่าชีวิตที่กำลังจะผ่านไปอีก  1  วัน  ก่อนราตรีจะมาเยือน  เราได้ทำสิ่งใดไปแล้วบ้าง

.

.

หลายปีที่ผ่านมา  ผมได้ฝึกทำสมาธิเป็นประจำ  ไม่ว่าจะเป็นอิริยาบถใด  เช่น  เดิน  นั่ง  ยืน  นอน  พูด  ตรวจคนไข้  รับประทานอาหาร  ฯลฯ  จะมีมุมหนึ่งซึ่งชอบมานั่งทำสมาธิเป็นประจำคือหน้า  อาศรม  (  ชื่อเล่นของคลินิกคณยาย )  ซึ่งตรงมุมนี้  ผมมักจะทำสมาธิได้ดี  เพราะมีสิ่งที่ธรรมดามากๆ  ให้นั่งมองดู  และพิจารณา  นั้นคือต้นไม้ประจำอาศรม  คือ  ต้นแคนา  ซึ่งมีอยู่ตั้งแต่ก่อนเริ่มสร้างคลินิก

 

ต้นแคนา  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Dolichandrone serrulata (DC.) Seem.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

  เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง  สูงได้ถึง 10-20 เมตร  ผลัดใบ  เปลือกลำต้นสีน้ำตาลอ่อนอมเทา  อาจมีจุดดำประ  ผิวเรียบ  หรือล่อนเป็นเกล็ดขนาดเล็ก  ลำต้นเปล่าตรง  มักแตกกิ่งต่ำ  ใบ  เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว  ปลายคลี่  ออกตรงข้าม  3-5  คู่  รูปไข่แกมขอบขนาน  ปลายแหลม  โคนใบเบี้ยว  กว้าง 2.5-7  เซนติเมตร  ยาว 6-16 เซนติเมตร  ขอบใบหยักแบบซี่ฟันตื้นๆ  ผิวใบด้านล่างมีขนสั้นประปรายบนก้านใบ  ก้านใบย่อยยาว  7-10  มิลลิเมตร  ดอกเป็นดอกช่อแบบช่อกระจะสั้น  ดอกใหญ่  รูปแตร  สีขาว  ออกตามปลายกิ่ง  ยาว 2-3 ซม.  ก้านดอกยาว  1.8-4  เซนติเมตร  แต่ละช่อมี  2-10  ดอก  บานทีละดอก  กลิ่นหอม  บานตอนกลางคืน  รุ่งเช้าร่วง  กลีบเลี้ยงหนาและเหนียว  ปลายเรียวเล็กโค้งยาว  3-4  เซนติเมตร  จะหุ้มดอกตูมมิด  เชื่อมติดกันเป็นหลอดโค้งปลายแหลม  เมื่อดอกบานจึงมีรอยแตกทางด้านล่าง  มีลักษณะเป็นกาบหุ้มกลีบดอก  ติดกันเป็นท่อ  ปลายขยายออกเป็นรูประฆัง  และแยกออกเป็น 5 แฉก  กลีบดอกเชื่อมติดกัน  ยาว  16-18  เซนติเมตร  หลอดกลีบดอกยาว 13-14  เซนติเมตร  ส่วนโคนแคบคล้ายหลอด  สีเขียวอ่อน  ส่วนบนบานออกคล้ายกรวยสีขาวแกมชมพู  แฉกกลีบดอกมี  5  กลีบ  รูปไข่  ยาว  3-4 เซนติเมตร  ขอบกลีบย่น  เป็นคลื่น  ดอกสีขาว  ดอกตูมสีเขียวอ่อนๆ  โคนกลีบมีสีน้ำตาลปน  เกสรเพศผู้  4  อัน  ติดอยู่ที่ด้านในของท่อกลีบดอก  ปลายแยกมีขนาดสั้น  2  อัน  ยาว  2  อัน  และมีเกสรเพศตัวผู้ที่เป็นหมัน  1  อัน  รูปร่างเป็นเส้นเรียวเล็กรูปเส้นด้าย  ยาวประมาณ  1  เซนติเมตร  อับเรณูยาวประมาณ  1  เซนติเมตร  สีเทาดำ  จานฐานดอกรูปเบาะ  เป็นพูตื้นๆ  เกสรเพศเมีย  1 อัน  ผลเป็นฝัก  ช่อละ  3-4  ฝัก  แบน  รูปขอบขนาน  โค้ง  บิดเป็นเกลียว ยาว  40-60  เซนติเมตร  พบตามป่า  ทุ่ง  ไร่  นา  ป่าเบญจพรรณออกดอกช่วงเดือน  มีนาคมถึงมิถุนายน  กลีบดอกบานใช้ต้มจิ้มน้ำพริก  หรือแกงส้ม

 

สรรพคุณ    
             ตำรายาไทย  ใช้  ราก  มีรสหวานเย็น  แก้เสมหะและลม  บำรุงโลหิต  เปลือกต้น  มีรสหวานเย็น  แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ  ใช้กับสตรีหลังคลอด  ใบ  มีรสเย็น  ใช้ตำพอกแผล  หรือต้มน้ำบ้วนปาก  ดอก  มีรสหวานเย็น  ใช้ขับเสมหะ  โลหิต  และลม  ขับผายลม  เมล็ด  รสหวานเย็น  แก้อาการปวดประสาท แก้โรคชัก

.

Credit :  https://apps.phar.ubu.ac.th/phargarden/main.php?action=viewpage&pid=28

ฝักต้นแคนา

 

ต้นแคนานั้น  นอกจากมีสรรพคุณ  เป็นสมุนไพร  ได้ทั้งต้นแล้วนั้น  ยังมีกลิ่นเขียว  ที่ผมชอบมากๆ  ต้นแคนาที่อาศรมนั้น  รายล้อมไปด้วย  ต้นหญ้า  ต้นไทรเกาหลี  ฯลฯ  ยิ่งฤดูฝน  ( บทความเขียนตอนปลายฝน  กย.67 )  ทำให้ใบดกเขียวฟูมาก  สามารถบดบังแดด  ที่เข้ามายังคลินิกได้เป็นอย่างดี  และใบจะร่วงจนเกือบหมดต้น  ช่วง  มกรา-กุมภา  ( ฤดูฝุ่น  PM.2.5  เชียงใหม่ )

 

ต้นไม้ต้นนี้  ให้แง่คิดในการดำเนินชีวิตของผม  ดังเช่น 

  1. ดอกของต้นแคนา มีสีขาว  กลิ่นหอม  จะบานตอนกลางคืน  และร่วงในตอนเช้า  ดอกสีขาวหอมที่ร่วงลงมาบนพื้นในตอนเช้า  เหมาะสำหรับนำไปจิ้มน้ำพริกและแกงส้ม  แต่พอตกเย็นจะมีสีดำ  ไม่สวยงาม  ไม่ควรนำไปประกอบอาหาร

.

เรื่องนี้ให้แง่คิดกับผมว่า  สิ่งทั้งหลายนั้นมีคุณค่าแก่โลกใบนี้  แค่ช่วงเวลาหนึ่ง  แต่พอเวลาผ่านไป  ย่อมมีวันร่วงโรยรา  และแตกสลายตามกาลเวลา

.

.

  1. ต้นที่เคยเขียวชอุ่มไปด้วยใบ ในฤดูฝน-หนาว  กลับผลัดใบร่วงลงบนสนามหญ้า  แทบนับใบบนต้น  ได้เลย  เปรียบเปรยว่า  สิ่งทั้งหลาย  ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น  เพราะสิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว  ย่อมมีวันดับ  เป็นธรรมดา  ดั่งดอกไม้ที่ร่วงลงบนพื้นสนามหญ้า 

.

.

  1. เช่นเดียวกับข้อ 2  ใบร่วงหมดทั้งต้นได้  ก็กลับมามีใบเขียวชอุ่มออกดอกส่งกลิ่นเขียวหอม  เมื่อถึงฤดูของเขา  ได้เช่นกัน  เปรียบได้กับ  พระธรรม  ของพุทธองค์  ที่แสดงเรื่อง  โลกธรรม  8  ที่พุทธองตรัสไว้ว่า

.

โลกธรรม 8 หมายถึง ธรรมดาของโลก เรื่องของโลก ธรรมชาติของโลกที่ครอบงำสัตว์โลก และสัตว์โลกต้องเป็นไปตามธรรมดานี้ 8 ประการ อันประกอบด้วย

.

โลกธรรมฝ่าย  อิฏฐารมณ์  คือ  พอใจของมนุษย์  เป็นที่รักเป็นที่ปรารถนา

  1. ลาภ หมายความว่า ได้ผลประโยชน์  ได้มาซึ่งทรัพย์
    2. ยศ  หมายความว่า  ได้รับฐานันดรสูงขึ้น  ได้อำนาจเป็นใหญ่เป็นโต
    3. สรรเสริญ  คือ  ได้ยิน  ได้ฟัง  คำสรรเสริญคำชมเชย  คำยกย่อง  เป็นที่น่าพอใจ
    4. สุข  คือ  ได้ความสบายกาย  สบายใจ  ความเบิกบาน  บันเทิงใจเริงใจ

    โลกธรรมฝ่าย  อนิฏฐารมณ์  คือ  ความไม่พอใจของมนุษย์ ไม่เป็นที่ปรารถนา

  2. เสื่อมลาภ หมายความว่า เสียลาภไป  ไม่อาจดำรงอยู่ได้
    6. เสื่อมยศ  หมายถึง  ถูกลดอำนาจความเป็นใหญ่
    7. นินทาว่าร้าย หมายถึง ถูกตำหนิติเตียนว่าไม่ดี ถูกติฉินนินทา หรือถูกกล่าวร้ายให้เสียหาย
    8.ทุกข์  คือ  ได้รับความทุกขเวทนา  ทรมานกาย  ทรมานใจ

.

.
อิฏฐารมณ์  (อ่านว่า อิดถารม)  แปลว่า  อารมณ์ที่น่าปรารถนา ตรงข้ามกับ  อนิฏฐารมณ์  อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา

อิฏฐารมณ์  คือสิ่งที่คนปรารถนา  ต้องการอยากได้  อยากมี อยากพบเห็น  ได้แก่  กามคุณ  ๕  คือรูป  เสียง  กลิ่น  รส สัมผัสที่ดี  ชวนให้รักให้ชอบใจ  และโลกธรรมในส่วนที่ดี ๔ คือ ลาภ  ยศ  สรรเสริญ  สุข  อิฏฐารมณ์  เป็นสิ่งที่เกิดได้แก่ทุกคน แต่มีความจริงว่าเป็นสิ่งไม่เที่ยง  ทนอยู่ใน  สภาพนั้นๆ  ไม่ได้นาน  มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา  เกิดมีได้ก็กลับกลายเป็นอื่น  ไปได้  ข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับอิฏฐารมณ์  คือเมื่อมีหรือได้รับมาก็ไม่พึงยินดีติดใจหลงใหล  จนเผลอ  สติลืมตัว ลืมข้อเท็จจริงข้างต้นเมื่ออิฏฐารมณ์  แปรเปลี่ยนไปจะได้ไม่ทุกข์ ไม่เสียใจมาก

 

อนิฏฐารมณ์  (อ่านว่า อะ-นิด-ถา-รม)  แปลว่า  อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา  ตรงข้ามกับ  อิฏฐารมณ์  อารมณ์ที่น่าปรารถนา หมายถึงสิ่งที่คนไม่ปรารถนา  ไม่ต้องการอยากได้  ไม่อยากมี  ไม่อยากพบเห็น  ได้แก่  กามคุณ  ๕  คือรูป  เสียง  กลิ่น  รส สัมผัสที่ไม่ดี  ไม่ชวนให้รักให้ชอบใจ  และโลกธรรมในส่วนที่ไม่ดี ๔ คือ  เสื่อมลาภ  เสื่อมยศ  นินทา  ทุกข์  อนิฏฐารมณ์เป็นสิ่งที่เกิดได้ แก่ทุกคน  แม้ไม่ต้องการ  แต่มีความจริงว่า อนิฏฐารมณ์  เป็นสิ่งไม่เที่ยง  ทนอยู่ในสภาพนั้นๆ  ไม่ได้นาน มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา  เกิดมีได้ก็กลับกลายเป็นอื่นไปได้  เช่นเดียวกับสิ่งที่เป็นอิฏฐารมณ์

 

Credit
โลกวิปัตติสูตร (โลกธรรม ๘) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓  พระสุตตันตปิฎก 
หน้า322

  1. แคนาต้นนี้นั้นอยู่ท่ามกลาง พรรณไม้ชนิดอื่น ทั้งต้นหญ้า ไทรเกาหลี และอื่นๆใต้โคนต้น โดยไม่ว่า สิ่งเกิดขึ้นโดยรอบ หรือที่ตัวต้นแคนาเอง เช่น จะมีนกมาทำรังบนต้น มีกระรอกมาหาอาหารบนต้น มีรังของแมลงหลายๆชนิด ซึ่งเกิดและตาย วนไปวนมาอยู่ร่ำไป หรือว่าต้นหญ้าจะตาย เพราะขาดน้ำ ( ช่วงหน้าแล้งบางครั้งไม่ได้รดน้ำเพราะอากาศ และฝุ่น PM2.5 ในเชียงใหม่รุนแรงมาก ) หรือต้นไทรเกาหลี บางจุด จะโตไม่เท่ากัน ระดับของต้นไทรเกาหลีจึงสูงและต่ำไม่เท่ากัน แต่ต้นแคนานต้นนี้นั้น ก็ยังคงเจริญเติบโต โดยไม่ได้ทุกข์ร้อนกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกอย่างใด เปรียบได้กับ การมีตนเองเป็นที่พึ่งแห่งตน คือไม่ว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้อง น้ำจะมาก น้ำจะน้อย ก็ยังมีเจริญเติบโตต่อไปได้ โดยแม้สถานการณ์ภายนอกจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม ซึ่งต้นแคนาประจำอาศรมคุณยายต้นนี้ เทียบเคียงเข้าได้กับอุปมาอุปมัย มะพร้าวนาฬิเกร์ กลางทะเลขี้ผึ้ง ซึ่งเป็นธรรมะบรรยาย ดั่งคำที่ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวถึง มะพร้าวนาฬิเกร์ กลางทะเลขี้ผึ้งที่ว่า “ นิพพานกับวัฏสงสารอยู่ติดกันเลย เช่นเดียวกับมะพร้าวกับน้ำ เปรียบได้กับวัฏสงสารหรือทะเลขี้ผึ้ง และมะพร้าวคือนิพพาน ไม่ได้แยกไว้คนละทิศคนละทาง ข้างบนข้างล่าง ใต้โลกเหนือโลก เพราะความหมายของคำนี้มันดิ้นได้ มันพิเศษ ถ้าพูดว่าเหนือมันพลิกทีเดียวก็เป็นเหนือ เป็นใต้ เป็นบนเป็นล่าง ชั่วแค่พลิกฝ่ามือก็เป็นเหนือเป็นใต้แล้ว ก็มองเห็นมะพร้าวนาฬิเกร์ กลางทะเลขี้ผึ้ง ทะเลขี้ผึ้งคือวัฏสงสาร ก็คือความทุกข์ ความทุกข์ที่วนอยู่เรื่อยไม่สิ้นไม่สุดนี้ เรียกว่าวัฏสงสาร หรือทะเลขี้ผึ้ง กลางทะเลขี้ผึ้งแต่ไม่ใช่ตัวทะเลขี้ผึ้งเอง เรียกว่ามะพร้าวนาฬิเกร์ ในความหมายหนึ่งว่าต้นเดียวเปลี่ยวลิงโลดเอย ก็คือไม่มีอะไรที่จะเกี่ยวข้อง หรือเป็นคู่ หรือเป็นอะไร ต้นเดียวเปลี่ยวลิงโลดเอย ธรรมะที่เป็นหนึ่งล้วนๆ ไม่มีอะไรเข้าไปเจอปนเกี่ยวข้องด้วย ก็มีแต่อสังขตะ หรือนิพพาน คือว่าต้นเดียวเกี่ยวลิงโลดเอย ที่อยู่กับทะเลขี้ผึ้ง แปลว่าที่นั่นฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง แปลว่าความทุกข์แตะต้องไม่ได้ ที่มะพร้าวนาฬิเกร์ ความทุกข์ที่แตะต้องเป็นประจำอยู่ในวัฏสงสาร คือในทะเลขี้ผึ้ง ในทะเลขี้ผึ้งเต็มไปด้วยความทุกข์ แต่ที่ต้นมะพร้าวนั้นความทุกข์แตะต้องไม่ได้ ให้คำจำกัดความว่าฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึงที่มะพร้าวนาฬิเกร์นั้น “

.

.

  1. เป็นร่มเงาให้อาศรม อันนี้มีประโยชน์มากๆ ตอนสร้างคลินิกคุณยาย นั้นผมไม่มีความคิดจะตัดต้นแคนาต้นนี้ทิ้งไปเลย  เพราะด้วยความผูกพันที่เราเห็นเขาในสนามหญ้าบริเวณบ้าน  มาหลายปีแล้ว  สุดท้ายพอถึงเวลาที่ตันเติบใหญ่เจริญงอกงาม  ก็มีประโยชน์ในแง่การบังแดด  บังลมกันฝนได้บ้าง  ให้กับอาศรม  และ  ในบางครั้งผมก็อาศัยร่มเงาขอต้นแคนานี้  นั่งทำสมาธิ  และพิจารณาธรรม  ที่เกิดจากการร่วงหล่นของใบและดอกได้ตลอดเวลา  ยิ่งทำให้ผมพิจารณาได้ถึงกฎพระไตรลักษณ์ซึ่งแสดงธรรมโดยพระสมณโคดมพุทธเจ้า  ที่ว่า  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  กล่าวคือ  หลักคำสอนที่ว่าด้วยกฎแห่งความ  เสมอภาคของสิ่งทั้งปวงทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมนั้น  ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎแห่งไตรลักษณ์  คือ  ความไม่เที่ยง (อนิจจัง)  ความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้  (ทุกขัง)  และมีสภาวะไม่ใช่ตัวตน  ไม่ยั่งยืน  ปราศจากอัตตภาวะ  (อนัตตา)  เพราะมีการเกิดขึ้น  (อุปาทะ)  ฐิติ (ตั้งอยู่) ภังคะ (ดับไป)  ความเป็นไปต่าง ๆ  ของสิ่งทั้งปวงนี้ย่อมเป็นไปตามธรรมชาติ อาศัยความสัมพันธ์และความเป็นปัจจัยต่อกัน  จึงเรียกว่า  เป็นกฎธรรมชาติ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงกฎของธรรมชาติ  คือ  ไตรลักษณ์  ซึ่งเป็นลักษณะของ สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏให้เห็นว่าเป็นอย่างนั้น   

 

#ขอน้อมนำพระธรรมที่พุทธองค์ทรงแสดงที่ว่า

“ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ

พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น

และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น

พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้”

.

.

** พระอัสสชิ

ได้กล่าวธรรมปริยายนี้

แก่..สารีบุตรปริพาชก

.

.

เพราะได้ฟังธรรมปริยายนี้

ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี

ปราศจากมลทิน

ได้เกิดแก่ สารีบุตรปริพาชก ว่า…
.

.

“สิ่งใดสิ่งหนึ่ง

มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

สิ่งนั้นทั้งปวง

มีความดับไปเป็นธรรมดา”

ดั่งศาสนศาสนสุภาษิต  ที่พุทธองค์  ตรัสไว้ว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย
คือธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น  และ  “สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น”

.

.

ที่มา :

สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา

พระไตรปิฎกภาษาไทย

เล่ม ๔ ข้อ ๖๐ หน้า ๗๓-๗๔

.

.

ขอจบด้วยพระการฉะนี้

ทัศนมาตร  มหาชัชวีร์  กิตติพงศ์วิวัฒน์

 
หากท่านต้องการเปิดประสบการณ์ใหม่ ในการดูแลดวงตา ของท่าน รวมไปถึง ท่านที่กำลังประสบปัญหาการมองเห็น ที่ยังไม่สามารถจบปัญหาได้เสียที ติดต่อ เข้ารับคำปรึกษา ตรวจสายตา ระบบการมองเห็น ด้วยมาตรฐานทางทัศนมาตรวิชาชีพขั้นสูงสุด บรรยากาศสบาย ได้ความเป็นส่วนตัว และเป็นกันเอง ปลอดภัย  มีกล้องวงจรปิดทุกจุดในคลินิก กรุณานัดหมายก่อนรับบริการ โทร 062-125-2601
inbox เพจ ที่ www.facebook.com/KHUNYAIOPTOMETRY
ID LINE : khunyai_optometry
 
Location ภายในหมู่บ้าน Wize Signature เลขที่ 345/51 หมู่ 3 ถ.วงแหวนรอบนอก ต.สันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
 
Google map
เวลาทำการ 10.00 – 18.00 น. วันอังคาร – อาทิตย์