Ethics for Optometrist in Thailand 2023
มีโอกาสได้เขียนคอนเท้น เกี่ยวกับ จรรยาบรรณวิชาชีพทัศนมาตร เมื่อ 3 ปีที่แล้ว สมัยนั้น เรียนจบทัศนมาตรศาสตร์ มาได้ 4 ปี ด้วย passion ในบริบทสมัยนั้น อยากสื่อสารเรื่องราว จรรยาบรรณของผู้ประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตร มีเจตนาเพื่อให้วิชาชีพดูสง่างาม เป็นสาขาหนึ่งด้านการแพทย์ เป็นที่ยอมรับของสหสาขาวิชาชีพ
ปัจจุบัน 2023 เป็นธรรมดาเมื่อมนุษย์อายุมากขึ้น ผ่านประสบการณ์มากขึ้น ความคิด ความเห็น ทัศนคติ ย่อมเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา เลยอยาก review ทัศนคติต่อเรื่องนี้ ณ ปัจจุบัน อีกครั้ง
นักทัศนมาตรที่จบปริญญา 6 ปี ได้วุฒิปริญญา Doctor of Optometry ในปัจจุบัน ไปประกอบอาชีพอยู่ในหลายภาคส่วนทั่วประเทศไทย ดังนี้
นักทัศนมาตรเป็นลูกจ้างปฏิบัติงานในร้านค้าแว่นตาพาณิชย์
นักทัศนมาตรเป็นเจ้าของกิจการร้านค้าแว่นตาพาณิชย์
ทัศนมาตรปฏิบัติงานเองและเป็นเจ้าของคลินิกทัศนมาตร
ทัศนมาตรปฏิบัติงานเองและเป็นเจ้าของคลินิกทัศนมาตร
นักทัศนมาตรปฏิบัติงานในแผนกจักษุวิทยาตามโรงพยาบาลต่างๆ
นักทัศนมาตรที่ปรึกษาบริษัทเลนส์แว่นตาหรือบริษัทคอนแทคเลนส์แบรนด์ต่างๆหรือที่ปรึกษาบริษัทเครื่องมือแพทย์
นักทัศนมาตรทำงานเป็นผู้แทนขายเครื่องมือแพทย์
นักทัศนมาตรที่เป็นอาจารย์ทั้งประจำและพิเศษตามมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะทัศนมาตร
ส่วนตัวผม ทัศนมาตร ชัชวีร์ กิตติพงศ์วิวัฒน์ ทำงานเป็นทัศนมาตรที่คลินิคทัศนมาตร คุณยายออพโตเมทรี เพื่อทำตามอุดมการณ์ และผมเป็นทัศนมาตรที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้นการทำงานของผมจึง concern ถึง พรบ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 ซึ่งยึดโยง กับ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 2 ( พ.ศ. 2546 ) เรื่องการอนุญาตให้บุคคลทำการประกอบโรคศิลปะ โดยอาศัยทัศนมาตร (optometry) และเหตุที่ผมใช้คำว่าคลินิกทัศนมาตร ทั้งที่ไม่เข้าเกณฑ์ พรบ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 เนื่องจากพิจารณาแล้วว่า ลักษณะการทำงานเป็น Clinician โดยสมบูรณ์ คือตรวจ วินิจฉัย และแก้ไขปัญหาระบบการมองเห็น โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับงานของจักษุแพทย์ จึงเป็นที่มาว่าเหตุใดจึง ใช้ชื่อสถานปฏิบัติงานว่า “คลินิกทัศนมาตร คุณยายออพโตเมทรี”

รูปภาพที่จั่วหัวว่า “ทัศนมาตรศาสตร์ สาขาแห่งอนาคต” ที่มีรายการโทรทัศน์ Thai PBS มาถ่ายทำและสัมภาษณ์ ร่วมกับ ทัศนมาตร จักรพันธ์ เทียนเฮง ( classmate พี่ชายคนสนิท ) ราวปี 2016 เมื่อมีสติ นั่งพิจารณารูปและข้อความดังกล่าว ว่าสาขาที่กำเนิดในเมืองไทยมาตั้งแต่ ปี 2002 ราวๆ 21 ปี ถ้านับถึงปีปัจจุบัน จะต้องใช้เวลาหาอนาคต อีกกี่ปี จึงจะเป็นสาขาด้านการแพทย์ อันเป็นที่ยอมรับของ สหสาขาวิชาชีพทุกวิชาชีพโดยสมบูรณ์
เนื่องด้วยการรักษาจรรยาบรรณวิชาชีพของผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาทัศนมาตร โดยเจาะจงไปที่ นักทัศนมาตรที่ปฏิบัติงานในร้านค้าแว่นตาพาณิชย์ ทั้งที่เป็นลูกจ้างและเจ้าของกิจการ ว่าแล้วเข้าเรื่องกันเลย
หมวด3 การประกอบโรคศิลปะ****
ข้อ 15. ผู้ประกอบโรคศิลปะ ต้องรักษามาตรฐานของการประกอบวิชาชีพ ตามที่กำหนดโดยคณะ กรรมการวิชาชีพ
ข้อเท็จจริง ยังไม่มีกรรมการวิชาชีพทัศนมาตร เพราะยังเป็นศาสตร์จากต่างประเทศอยู่ แต่มาตรฐานวิชาชีพทัศนมาตรได้กำหนดไว้ใน คำนิยามและขอบเขตของทัศนมาตรแล้ว
ข้อคิดเห็น เรื่องนี้ตอบได้ยาก ว่านักทัศนมาตรบุคคลนั้นๆ ตรวจได้ตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ ผู้บริโภคที่เคยมีประสบการณ์ตามร้านแว่นตาต่างๆเท่านั้นจะตอบได้ และลองพิจารณาดู แต่จากที่ตนเคยมีประสบการณ์ ทำงานในร้านแว่นตาพาณิชย์ บอกได้ว่าทำตามมาตรฐานได้ยากมาก เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมมีมาก
ข้อ 17. ผู้ประกอบโรคศิลปะต้องประกอบวิชาชีพโดยคำนึง ถึงความปลอดภัย และความสิ้นเปลืองที่เกินความจำเป็นของผู้ป่วย
ข้อคิดเห็น เรื่องนี้ร้านแว่นตาโดยมาก จะมีแต่เชียร์ขายให้ลูกค้าซื้อแว่นตาแพงที่สุดเท่าที่จะพยายามได้ ใส่ได้ ไม่ได้ ขายไว้ก่อน ค่อยว่ากัน
ข้อ 19. ผู้ประกอบโรคศิลป์ต้องไม่จูงใจ หรือชักชวนผู้ป่วยให้มารับบริการทางวิชาชีพ เพื่อประโยชน์ตน
ข้อคิดเห็น จากสื่อสังคมออนไลน์ เกลื่อน และว่อน ดั่งผักตบชวาในคลองแสนแสบ ( ไม่แน่ใจลดลงหรือยัง ไม่ได้ไป กทม. โซนนั้นนานแล้ว ) เช่น วลีที่ว่า ตรวจสายตาโดย หมอสายตา นักทัศนมาตร พร้อมโปรโมชั่น กรอบแว่นตา และเลนส์สายตา ลดกี่เปอร์เซ็นก็ว่ากันไป เพื่อจูงใจในการซื้อ
ข้อ 20. ผู้ประกอบโรคศิลปะต้องไม่หลอกลวงผู้ป่วยให้หลงเข้าใจผิด ในการประกอบวิชาชีพ เพื่อประโยชน์ของตน
ข้อคิดเห็น ผู้ป่วย (ในที่นี่น่าจะเรียกว่าลูกค้ามากกว่า) ไม่ต้องหลอกหลวง ก็น่าจะเข้าใจผิดตั้งแต่ก่อนเข้ารับบริการซะมากกว่า เพราะส่วนมากนั้นต้องการจะขายแว่น มากกว่าการตรวจวินิจฉัยสายตาและระบบการมองเห็น ให้ได้มาตรฐาน เรื่องนี้ไม่ได้ผิดอะไรในแง่การพาณิชย์ ร้านแว่นก็ต้องการขายแว่น ลูกค้าก็ต้องการมาซื้อแว่น แต่คิดว่ากฎหมายเขียนไว้ในแง่ การประกอบโรคศิลปะในสถานพยาบาลมากกว่า ที่จะทำในร้านค้า
หมวด4 การปฎิบัติต่อผู้ร่วมวิชาชีพ*****
ข้อ 28. ผู้ประกอบโรคศิลปะต้องไม่ดูหมิ่น ทับถม ให้ร้าย หรือ กลั่นแกล้งกัน
ข้อคิดเห็น เกิดขึ้นเป็นปกติในทุกสาขาวิชาชีพ
.
ข้อ 29. ผู้ประกอบโรคศิลปะต้องไม่ชักจูงผู้ป่วยของผู้ประกอบโรคศิลปะอื่นมาเป็นของตน
ข้อคิดเห็น ในโซเชียลมีเดีย ทำกันทุกร้าน และไม่ได้รู้สึกผิดอะไร ส่วนมาก จะเห็นเพื่อนร่วมวิชาชีพเป็นคู่แข่งทางการค้ากันซะมากกว่า
หมวด5 การปฏิบัติต่อผู้ร่วมงาน
ข้อ 31. ผู้ประกอบโรคศิลปะพึงยกย่องให้เกียรติ และเคารพในศักศรีของผู้ร่วมงาน
ข้อ 32. ผู้ประกอบโรคศิลปะพึงส่งเสริม และสนับสนุนการประกอบวิชาชีพของผู้ร่วมงาน
ข้อ 33. ผู้ประกอบโรคศิลปะต้องไม่ดูหมิ่น ทับถม ให้ร้ายหรือกลั่นแกล้งผู้ร่วมงาน
ข้อคิดเห็น ไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ เพราะผมไม่ได้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาล หรือร้านแว่นตา ปัจจุบันผมปฏิบัติงานคนเดียว

พิจารณาเรื่องจรรยาบรรณของผู้ประกอบโรคศิลปะแล้ว แล้วเอามา merge กับวิชาชีพทัศนมาตร มีความเห็นว่า นักทัศนมาตรที่เป็นลูกจ้างปฏิบัติงานในร้านค้าแว่นตาพาณิชย์ คงปฏิบัติตาม พรบ.การประกอบโรคศิลปะ ที่มีจรรยาบรรณของวิชาชีพที่ต้องยึดถือปฏิบัติ เป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องรีบตรวจ รีบขาย ให้เร็วที่สุดเพื่อไปขายเคสต่อไป ในกรณีเคสเยอะ จะไปทำตาม standard วิชาชีพได้อย่างไร
นักทัศนมาตรเป็นเจ้าของกิจการร้านค้าแว่นตาพาณิชย์ มีความเห็นว่าถ้าจะยึดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพก็น่าจะทำได้ ส่วนจะทำหรือไม่ อันนี้ไม่ทราบ แล้วแต่วิจารณญาณส่วนบุคคล
นักทัศนมาตรปฏิบัติงานในแผนกจักษุวิทยาตามโรงพยาบาลต่างๆ มีความเห็นว่าถ้าจะยึดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพก็ควรจะทำ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างดีที่สุดด้วย
ทัศนมาตรปฏิบัติงานเองและเป็นเจ้าของคลินิกทัศนมาตร อันนี้จากประสบการณ์ทำงานในคลินิกของตนเอง สามารถยึดมาตรฐานการทำงานตาม standard รวมไปถึงยึดจรรยาบรรณวิชาชีพ ได้ 100 %
ขอแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเพียงเท่านี้ นักทัศนมาตรทุกท่าน ไม่ว่าทำงานตามภาคส่วนใดของประเทศไทย ที่ถือหนังสืออนุญาตให้ประประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์ ที่ออกให้โดยกระทรวงสาธารณสุข ก็จะมีกฎหมาย พรบ.โรคศิลปะ ควบคุมอยู่ มีทั้งสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้ นักทัศนมาตรทุกท่านทราบได้ดี ผมคงไม่สาธยายอะไรไปมากกว่านี้ ดังนั้นถ้านักทัศนมาตร ได้อ่านคอนเท้นนี้ ก็ลองพิจารณาเอาเอง ไม่ได้ต้องการสื่อสารเพื่อที่จะตำหนิผู้ใด เพียงแต่มีกุศลจิต อยากให้วิชาชีพทัศนมาตรเป็นสาขาด้านการแพทย์ที่สมบูรณ์ มากกว่าการเอาไปโฆษณาในเชิงพาณิชย์ ที่โอ้อวดเกินจริง
Content by CHATCHAWEE ,O.D. , BS. (RT)