VISUAL ACUITY ( VA )

 
VISUAL ACUITY ( VA )
หมายถึง ประสิทธิภาพในการมองเห็นของคนๆหนึ่ง ซึ่งแต่ละคนมีความสามารถในการรับรู้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ ภาพที่ไปตกบนจอรับภาพในดวงตานั้น ระบบประสาทของสมอง มีความสามารถในการรับรู้ และแปลผล ผ่านสมองส่วนหลัง ว่าภาพหรือสิ่งที่เห็นนั้น มีลักษณะเป็นอย่างไร

Chart มาตรฐานที่นิยม ใช้ในการตรวจวัดระดับการมองเห็น จะเรียกว่า Snellen VA charts ซึ่งถูกพัฒนาจากจักษุแพทย์ชาวเนเธอร์แลนด์ท่านหนึ่ง ชื่อว่า Herman Snellen ในปี 1892 แบบอื่นๆ เช่น EDTRS Chart ซึ่งมักใช้ในงานวิจัย หรือ เป็น Chart รูปภาพ ใช้สำหรับเด็ก

 
เราสามารถวัดระดับการมองเห็นได้ด้วยการมอง Chart เป็นตัวหนังสือภาษาอังกฤษ หรือตัวเลข เป็น Chart มาตรฐาน ที่มีลักษณะเป็นแผ่นป้ายใหญ่ๆ มีตัวหนังสือเรียงลำดับจากใหญ่ อยู่ตำแหน่งบนสุด บรรทัดล่างขนาดตัวอักษรจะมีขนาดเล็กลงลดหลั่นกันลงมา หรือเป็น Projector ฉายสไลด์ ที่มีแผ่นรับภาพ ผ่านการผลิตที่ผ่านการคำนวณสัดส่วนตัวหนังสือที่ได้มาตรฐาน สามารถนำมาใช้ทดสอบในผู้ใหญ่ที่สื่อสารได้ดี ในบางรายที่มีปัญหาในการสื่อสาร หรือ เด็กเล็ก อาจตรวจด้วยรูปภาพหรือสัญลักษณ์ง่ายๆ โดยผู้ตรวจต้องเลือกให้เหมาะสมกับคนไข้ ตรวจด้วยการถามและ ให้คนไข้ตอบในสิ่งที่เห็น ( เรียกว่าตรวจแบบ Subjective )

VA Chart แบบแผ่นป้าย มีขนาดตัวเลขแสดงขนาดใหญ่ไปเล็ก จาก ด้านบน สู่ ด้านล่าง ตามระดับการมองเห็น

VA มีประโยชน์ในการนำมาคัดกรอง พยาธิสภาพ หรือ โรคตา แยกจากปัญหาสายตาได้ และยังใช้ประเมินคนที่มีปัญหาค่าสายตาโดยประมาณได้เช่นกัน โดยมาตรฐานแล้ว เราจะตรวจระดับการมองเห็น (VA) ที่ระยะ 6 เมตร หรือ 20 ฟุต โดยเริ่มตรวจตาขวาก่อน ตามด้วยตาซ้าย และตรวจเมื่อมองตัวหนังสือทั้งสองตา แล้วจึงบันทึกผลตรวจระดับสายตาที่อ่านได้ดีที่สุด

 

ระดับสายตามาตรฐาน ที่คนสายตาปกติ( ไม่มีค่าสายตา หรือสายตาเป็นศูนย์ ) อ่านตัวหนังสือ ตัวเลข หรือ รูปภาพ สัญลักษณ์ ต่างๆ ที่มีขนาด 8.726 มิลลิเมตร โดยอ่านได้ที่ระยะไกล 6 เมตร หรือ 20 ฟุต จะเรียกว่าระดับการมองเห็น 20/20 หรือ 6/6 ซึ่งเกณฑ์นี้อาจกล่าวได้ว่า ควรจะต้องมองเห็นได้เป็นอย่างน้อย ในคนสุขภาพตาดี

ยกตัวอย่าง
ระดับการมองเห็น 20/15 ( ขนาดตัวหนังสือเล็กกว่า VA 20/20 คำนวณจาก 15/20 x 8.726 = 6.5445 ) หมายถึง คนที่มีสายตาเป็นศูนย์ ต้องอ่านที่ระยะใกล้ 15 ฟุต จึงจะอ่านตัวหนังสือขนาด 6.5445 มิลลิเมตร แต่คนไข้คนนี้สามารถอ่านตัวหนังสือ size นี้ ได้ที่ระยะ 20 ฟุต ซึ่งถ้าระดับการมองเห็นได้ระดับนี้ ถือว่าดีกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

ตัวเลข ระดับการมองเห็น VA 20/400 ซึ่งมีขนาดใหญ่

ตัวเลข ระดับการมองเห็น VA 20/20 หรือ 6/6 ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐาน

ระดับการมองเห็น 20/40 (size ตัวหนังสือใหญ่เป็น 2 เท่าของ VA 20/20 ได้มาจาก 40/20 x 8.726 = 17.5 มิลลิเมตร) หมายถึง คนสายตาปกติ หรือ ไม่มีค่าสายตา สามารถอ่าน ตัวหนังสือ Size 17.5 mm. ได้ที่ระยะ 40 ฟุต ดังนั้นถ้าคนไข้อ่านได้ดีที่สุดแค่ 20/40 ซึ่งในระยะนี้คนปกติซึ่งค่าสายตาเป็นศูนย์ แม้อยู่ออกไปไกลถึง 40 ฟุต ยังสามารถอ่านได้ แต่คนไข้คนนี้ต้องขยับเข้ามาใกล้ถึง 20 ฟุต จึงจะอ่านได้ ซึ่งถ้าระดับการมองเห็นดีที่สุดได้เท่านี้ ถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
 
 
สรุป ให้เข้าใจง่ายๆ ถ้าเราทดสอบที่ระยะอ้างอิง 20 ฟุต หรือ 6 เมตร เนื่องจากเป็นระยะที่ระบบการเพ่ง (Accommodation ) ของดวงตาคลายตัวที่สุด เปรียบเสมือนการจำลองในการมองภาพที่ระยะอนันต์ (ระยะไกลที่สุดที่ดวงตาจะมองเห็นโดยไม่มีการเพ่ง ) แล้วอ่านตัวหนังสือได้ดีที่สุด ขนาดเล็ก หรือ ใหญ่กว่า เป็นกี่เท่าของ ขนาดมาตรฐาน 8.726 มิลลิเมตร นั่นคือระดับการมองเห็นของคนๆนั้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่าห้องตรวจสายตาจึงควรเป็นระยะ 6 เมตร
 
ดังนั้นถ้าจะมีคนเข้าใจว่า อ่านขนาดตัวหนังสือได้เล็กมากที่สุดได้เท่าไหร่ ยิ่งดี ก็ไม่ผิด แต่ไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด เพราะปัจจัยในการอ่านค่า VA แล้วแปลผลออกมาเป็นระดับการมองเห็นนั้น มีตัวแปรที่ต้องควบคุมในการให้คนไข้อ่านตัวหนังสือให้ดี เพราะดวงตาเป็นลักษณะ Dynamic สามารถเกร็งตัวหรือคลายตัวได้ ขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร สมมุติว่า มีคนไข้คนหนึ่ง ระดับการมองเห็น 20/20 ด้วยตาเปล่า แต่เมื่อตรวจสายตาออกมามีค่าสายตา +0.50 เนื่องจากดวงตามีกลไกที่จะดึงโฟกัสภาพที่ตกหลังจอตาให้มาโฟกัสพอดีที่จอตา ทำให้เห็นตัวหนังสือขนาด 20/20 ได้ อย่างนี้ไม่ได้เรียกว่าสายตาปกติ
 
หรือยกตัวอย่าง เคสสมมติ เด็กคนหนึ่งค่าสายตาที่แท้จริงของเขาเป็นศูนย์ แต่เมื่อวัดโดยเครื่องคอมพิวเตอร์วัดสายตา (Autorefraction) วัดออกมาได้ -1.50 Diopter เมื่อลองใส่เลนส์ทดลอง -1.50 เด็กอ่าน VA ได้ 20/20 แต่เมื่อถอดเลนส์ออก ยังคงอ่าน 20/20 ได้เหมือนกัน เราจะอธิบายเรื่องนี้ว่า เมื่อตรวจด้วยเครื่องวัดสายตาคอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อใช้วัดในเคสเด็ก ความน่าเชื่อถือจะค่อนข้างต่ำ
 
ถ้าเราจ่ายค่าสายตาที่คอมวัดได้ -1.50 จะเป็นการผลักโฟกัสแสงจากเดิมที่ตกบนจอตาพอดีให้ โฟกัสเลยออกไปหลังจอตา แต่ด้วยวัยเด็กนั้นกำลังการเพ่งของดวงตายังดีอยู่มาก จึงมีกำลังมากพอในการดึงโฟกัสให้กลับมาตกที่จอตาอีกครั้ง เด็กจะสามารถอ่าน 20/20 ได้เช่นกัน แต่เป็นความชัดที่บีบๆ ปวดๆ ตัวหนังสือดำๆ เล็กๆ ไม่ได้ผ่อนคลายอย่างแท้จริง จะเรียกว่าสายตาสั้นที่มากเกินจริงหรือ OVER MINUS ซึ่งว่ากันตรงๆ ผู้ที่ไม่ได้เชียวชาญเรื่องนี้มากพอ แล้วทำงานเกี่ยวกับการให้บริการด้านสายตามักจะมีวลีที่ได้ยินอยู่บ่อยๆ ” อย่าไปใส่แว่นชัดเกินเดี๋ยวเวียนหัว ปวดหัว ถ้าพื้นลอยๆ แว่นอันนี้ไม่น่าจะใส่ได้ “ ไม่แน่ใจว่าวลีนี้ใครเป็นผู้คิดค้น แต่โรงเรียนทัศนมาตรไม่เคยสอนแน่นอน คาดว่าน่าจะเป็นคำกล่าวอ้าง เนื่องจากไม่สามารถหาค่าสายตาที่แท้จริงของคนไข้ได้มากกว่า

เพราะดวงตาของเราทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ 100% เมื่อตื่นนอน แล้วจะค่อยๆ อ่อนกำลังลงเมื่อชั่วโมงการทำงานของดวงตามากขึ้น เป็นเหตุผลที่ว่า การตรวจเพื่อหาค่าสายตาควรจะตรวจในช่วงเช้า จึงจะดีกว่าในช่วงเย็น และยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงช่วงดึก ที่เหมาะสมแก่การพักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ผลของการตรวจสายตาจากการที่ดวงตาอ่อนล้าจากการใช้งานมาอย่างหนักตลอดทั้งวันนั้น แทบจะเชื่อถืออะไรไม่ได้เลย

Credit ... BOXX MUSIC / เพลง พี่ๆ ตัดแว่นให้หน่อย / ศิลปิน SERIOUS BACON

ดังนั้นถ้าเราจะกล่าวถึงการวัดระดับการมองเห็นด้วยตาเปล่า แม้ระดับการมองเห็น จะเป็น 20/20 ก็ไม่ได้บ่งบอกว่า ไม่มีค่าสายตา ไม่ได้บอกว่ากายภาพดวงตาจะปกติ และไม่ได้บอกว่าระบบการเหลือบ การเพ่ง ของดวงตา จะปกติ หรือการตรวจวัดเพื่อหาค่าสายตาแล้ว อ่านได้ 20/20 อาจจะไม่ได้ปกติเสมอไป ดังนั้นจะมีคำกล่าวที่อ้างอิงตามหลักทฤษฎีได้จริง ไม่ได้ใช้มโนศาสตร์ว่า “ เห็นชัด ไม่ได้แปลว่าปกติ” เพราะงานระดับคลินิคทัศนมาตรนั้น เป็นการ enhance vision เพื่อมุ่งหมายให้ การมองเห็นของคนไข้ดีที่สุด โดยระบบฟังก์ชั่นของดวงตาผ่อนคลายมากที่สุด

ส่วนการตรวจเพื่อให้ได้ค่าสายตา นั้นสัมพันธ์กับระดับการมองเห็น (VA) หรือการตรวจเรื่องการทำงานร่วมกันสองตา เพื่อวิเคราะห์ระบบการมองเห็นทั้งระบบ ต้องผ่านการตรวจตามขั้นตอนอีกมากมาย ติดตามอ่านได้ใน Content ต่อๆไปครับ วันนี้คงพอสังเขปให้อ่าน เข้าใจได้ง่ายๆ ส่วนแฟนเพจท่านใดมีข้อสงสัย สามารถซักถามได้ใน Comment หรือ จะ Inbox มาถามได้ครับ
 
 
แก่นแท้ของการเป็นนักทัศนมาตรวิชาชีพ ที่ถือใบอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์นั้น การเป็นของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน บางท่านเป็นด้วยใบปริญญาที่แขวนอยู่บนฝา บางท่านเป็นด้วยป้ายโฆษณาที่อยู่หน้าร้าน บางท่านเป็นด้วยเสื้อกาวน์ที่คลุมอยู่แล้วปักป้ายว่า ” Doctor of optometry ” บางท่านเป็นด้วยการกล่าวว่า ท่านเรียนมามากมาย ท่านอาจจะบอกว่าท่านเป็นทัศนมาตร โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ใจความสำคัญคือ ท่านจะสื่อสารแบบใดนั้น ทำได้ตามอัธยาศัย ส่วนการทำงานแล้วมันเป็นทัศนมาตรในอุดมคติ อย่างที่ท่านทั้งหลายอ้างถึงหรือไม่นั้น กระผมไม่ขอกล่าวในที่นี้ โลกโซเชียลมีเดียปัจจุบัน หาข้อมูลได้ไม่ยากครับ
 
 
การสร้าง perception ภาพลักษณ์วิชาชีพต่อสังคมเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ดังนั้นควรช่วยกันวิเคราะห์ ปัญหาที่แท้จริง ว่าช่วยกันทำอย่างไร วิชาชีพจึงจะพัฒนาต่อไปได้ เพราะทุกอย่างควรเริ่มจากการพิจารณา และสำรวจตนเอง
 
 
เจตนาของผมนั้นหาได้มีเจตนามุ่งร้ายต่อผู้ร่วมวิชาชีพทัศนมาตรท่านใด หรือก้าวล่วง สถาบันทัศนมาตรอันทรงเกียรติ แห่งใด ทั้งสิ้น เพียงแต่อยากออกความเห็นต่อสิ่งที่มันปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ให้ท่านทั้งหลาย ได้ฉุกคิดขึ้นมาได้บ้าง แต่ถ้าคิดไม่ได้ก็ไม่เป็นไร หากท่านเป็นทัศนมาตรด้วยความมีเจตนามุ่งหมาย ให้วิชาชีพทัศนมาตรเติบโตทัดเทียมอารยประเทศ เป็นมาตรฐานทางสาธารณสุขของประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือคนไข้ เป็นที่พึ่งให้กับคนไข้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบการมองเห็นของดวงตา โดยเป็นที่ยอมรับของสหวิชาชีพด้านการแพทย์ และประชาชนชาวไทยนั้น ผมขออนุโมทนา สาธุการ
 
 
ขอบคุณครับ
Chatchawee,O.D.,BS.(RT)
Credit … Theoretical Optometry, RU

 

ผู้สนใจเข้ารับบริการตรวจสายตา และระบบการมองเห็นโดยทัศนมาตร ณ คุณยาย OPTOMETRY ติดต่อนัดหมาย โทรศัพท์ : 062-125-2601

ที่ตั้ง : คุณยาย OPTOMETRY ภายในหมู่บ้าน Wize Signature เลขที่ 345/51 หมู่ 3 ถ.วงแหวนรอบนอก ต.สันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่