Definition of Refractive Anomalies

คำนิยาม : ความผิดปกติ ของระบบการหักเหแสงในดวงตา ชนิดต่างๆ
 
เขียน Content กรณีศึกษา ที่มีความซับซ้อนของปัญหาสายตาและ ระบบการมองเห็น มาพอสมควร บทความนี้จึง หยิบยก ตำราของนักศึกษาทัศนมาตร ( Doctor of Optometry ) ที่ใช้ศึกษาเล่าเรียนกัน มาอธิบาย เกี่ยวกับ ความหมาย และนิยามลักษณะ ของความผิดปกติจากการหักเหแสงที่เกิดขึ้นในดวงตาของมนุษย์ ซึ่งส่งผลต่อระบบการมองเห็น ทำให้เกิดปัญหาสายตาชนิด
เบื้องต้น มาทราบรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพ ของดวงตาว่ามีความสามารถในการหักเหแสงอย่างไร
ระบบการหักเหแสงของดวงตามนุษย์นั้น กำลังหักเหส่วนใหญ่จะอยู่ที่กระจกตา และเลนส์ตา
 
ค่ากำลังหักเหของแสง ( Refractive Power )

กระจกตา ( Cornea ) มีดัชนีหักเห 1.376 มีกำลังหักเหประมาณ 40.0 Diopter
เลนส์แก้วตา ( Crystalline Lens) Lens Cortex ดัชนีหักเห 1.386 Lens nucleus มีดัชนีหักเห 1.406 เลนส์แก้วตามีกำลังหักเหประมาณ 20.0 Diopter
ดังนั้นผลรวมกำลังหักเหของกระจกตารวมกับเลนส์แก้วตา มีค่าประมาณ 60 Diopters
ความโค้ง ( Radii of Curvature) ซึ่งมีผลต่อกำลังการหักเหแสง ในดวงตา
กระจกตา โค้งหน้า 7.7 mm. โค้งหลัง 6.8 mm.
เลนส์ตา โค้งหน้า 10.0 mm. โค้งหลัง 6.0 mm.
 
ความยาวลูกตา ( Axial length )
โดยเฉลี่ยแล้ว ความยาวลูกตา หรือ กระบอกตา โดยวัดขนาดเริ่มตั้งแต่ปลายสุดกระจกตา ไปยังส่วนหลังสุดของตาคือจอประสาทตา มีค่าความยาวประมาณ 24 mm.
 
ซึ่งค่าทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นค่าเฉลี่ยมาตรฐานของดวงตามนุษย์ในอุดมคติ ซึ่งคำนวณจากแบบจำลองลูกตา (Schematic eye ) โดยปัจจัยทางกายภาพของแต่ละบุคคลนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งเมื่อมีค่าทางกายภาพแตกต่างจากค่าปกตินั้น จึงนำไปสู่ความผิดปกติของการหักเหแสงชนิดต่างๆ ( ในที่นี้ไม่รวมถึงพยาธิสภาพ หรือโรคตาบางชนิดที่มีผลต่อการหักเหแสง ) ส่งผลให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าปัญหาสายตา อาการแสดงเช่น มองภาพไม่ชัด มัว มองเห็นเงาซ้อน รู้สึกต้องเพ่ง หรือหรี่ตาเพื่อให้ภาพชัดขึ้น อาจแสดงเป็นอาการไม่สบายตา เมื่อต้องใช้สายตามองสิ่งใด นานๆ เมื่อผ่านการตรวจสายตา จะเรียกว่าค่าสายตา (Prescription) ซึ่งสามารถ อธิบายจำแนกออกเป็นหลายชนิด ดังนี้
 
 
Emmetropia สายตาปกติ
แสงเมื่อเดินทางจากระยะอนันต์ ผ่านตัวกลางคืออากาศ เข้ากระทบสู่ระบบการหักเหทั้งหมดของตา แล้วโฟกัสเป็นจุด บนจุดรับภาพที่จอประสาทตา พอดี และต้องอยู่ในสภาวะที่ระบบการเพ่ง ( Accommodation ) คลายตัว ( Relaxed ) เรียกง่ายๆว่า ไม่มีค่าสายตา หรือสายตามีค่าเป็นศูนย์ (Plano)
Emmetropia
Ametropia สายตาผิดปกติ
การเดินทางของแสงจากระยะอนันต์ ผ่านตัวกลางอากาศ เข้ากระทบสู่ระบบการหักเหของดวงตา แล้วไม่โฟกัสบนจอประสาทตา ด้วยภาวะที่ระบบการเพ่ง ( Accommodation ) คลายตัว ประกอบไปด้วยความผิดปกติชนิดต่างๆดังนี้
 
Myopia หรือสายตาสั้น
เป็นภาวะที่แสงตกกระทบระบบหักเหของดวงตา แล้วโฟกัส ที่หน้าจอประสาทตา แยกสาเหตุได้ 2 แบบ
 
๑. Refractive Myopia เกิดจากความโค้ง กระจกตา หรือเลนส์ตา โค้งมากเกินไป ทำให้กำลังหักเหทั้งหมดของตา เกินกว่า 60 Diopters โดยความยาวกระบอกตามีขนาดปกติ 24 mm. แสงเมื่อตกกระทบระบบหักเหของตาแล้วโฟกัสก่อนถึงจอประสาทตา

๒. Axial Myopia กำลังหักเหของลูกตา 60 Diopters แต่กระบอกตายาวเกิน 24 mm. แสงเมื่อตกกระทบระบบหักเหของตาแล้วโฟกัสก่อนถึงจอประสาทตา
 
ระดับความรุนแรงของสายตาสั้น
สายตาสั้นน้อย < -2.00 Diopters
สายตาสั้นปานกลาง -2.00 ถึง -4.00 Diopters
สายตาสั้นมาก > -4.00 ถึง -6.00 Diopters
สายตาสั้นรุนแรง > -6.00 Diopters

Myopia

Hyperopia หรือ สายตายาว
ภาวะแสงตกกระทบระบบหักเหของดวงตา แล้วโฟกัส ที่ด้านหลังจอประสาทตา ด้วยระบบการเพ่ง ( Accommodation ) คลายตัว
แยกได้ 2 สาเหตุ
 
๑. Refractive Hyperopia
เกิดจากความโค้งกระจกตา หรือเลนส์ตา แบนเกินไป ทำให้กำลังหักเห น้อยกว่า 60 Diopters ความยาวลูกตาปกติ 24 mm. แสงเมื่อตกกระทบระบบหักเหของตาแล้วโฟกัสด้านหลัง จอประสาทตา
 
๒. Axial Hyperopia
กำลังหักเหลูกตา ปกติ 60 Diopters แต่กระบอกตาสั้นกว่า 24 mm. แสงเมื่อตกกระทบระบบหักเหของตาแล้วโฟกัสด้านหลัง จอประสาทตา
 
ระดับความรุนแรงของสายตายาว
สายตายาวน้อย < +2.00 Diopters
สายตายาวปานกลาง +2.25 ถึง +5.00 Diopter
สายตายาวมาก > +5.00 Diopters

Hyperopia

Astigmatism หรือ สายตาเอียง
 
ภาวะแสงตกกระทบระบบหักเหของดวงตา แล้วไม่รวมเป็นจุดโฟกัส แต่จะเป็นแนวเส้น ( Focal Line) ใน 2 ระนาบ อาจจะเกิดที่กระจกตา หรือ เลนส์ตา ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณกระจกตามีสัณฐานความโค้ง ไม่เท่ากัน ใน 2 แกน ( ถ้าความโค้งเท่ากันทุกแกน จะมีทรงกลมคล้ายลูกเบสบอล ซึ่งกำลังหักเห จะเท่ากันทุกระนาบจึงไม่มีค่าสายตาเอียง) ดังนั้นกระจกตาที่มีรูปร่างคล้ายรูปรักบี้ กำลังหักเหจึงไม่เท่ากันใน 2 แกน ผลต่างของจุดโฟกัสที่เป็นเส้นใน 2 ระนาบ ทำให้เกิดกำลังค่าสายตาเอียงขึ้น
 
ถ้าลักษณะความโค้งกระจกตา ในแกนตั้งโค้งมากกว่าแกนนอน ความโค้งในแกนตั้งจะมีกำลังหักเหมากกว่าแกนนอน และทิศทางการวางตัวของรูปรักบี้จะเป็นทิศในแนวนอน เรียกว่า With the rule (WTR) องศาในแกนนอน จะมีค่าตั้งแต่ 0 – 29 องศา และ 151 – 180 องศา
 
ถ้าลักษณะความโค้งกระจกตา ในแนวแกนนอนโค้งมากกว่าแกนตั้ง ความโค้งในแกนนอนจะมีกำลังหักเหมากกว่าแกนตั้ง และทิศทางการวางตัวของรูปรักบี้จะเป็นทิศแนวตั้ง เรียกว่า Against the rule (ATR) องศาในแนวตั้ง มีค่าตั้งแต่ 61 ถึง 119 องศา
 
ส่วนความโค้งในแนวแกนอื่นที่นอกเหนือจาก WTR และ ATR จะเรียกว่า Oblique Astigmatism หรือสายตาเอียงในแนวเฉียง มีองศา ตั้งแต่ 30 – 60 และ 120 -150 องศา
 
ส่วนสายตาเอียงที่เกิดที่เลนส์ตา จะเรียกว่า Lensticular Astigmatism ซึ่งมักจะเกิดจากการที่เลนส์แก้วตาบิดไปจากแกนปกติ ซึ่งมักทำให้เกิดองศาสายตาเอียงในแกนตั้ง
Presbyopia สายตาชรา ตามวัย
 
เมื่ออายุประมาณ 40 ปี อาการคือ จะมองวัตถุในระยะใกล้ หรือ อ่านหนังสือ ดูโทรศัพท์ ไม่ค่อยชัด จัดเป็นความเสื่อมของร่างกายที่มนุษย์ทุกคนต้องประสบ ซึ่งต้องเพิ่มระยะ หรือ ยืดวัตถุออกห่างตัว สิ่งที่มองจึงจะชัดเจนขึ้น ส่วนมากจะเกิดความสับสนกับ สายตาประเภทนี้ เพราะมักเรียกกันว่าสายตายาว
มีสอง ทฤษฎี ที่ทำให้เกิดสายตาชรา
 
๑. เกิดจากเลนส์ตา มีความแข็งตัวมากขึ้น ดังนั้นความสามารถในการป่องตัว เพื่อเพิ่มกำลังเพ่งโฟกัส (Accommodation ) ระยะใกล้ลดลง
 
. ความสามารถในการหดตัวของ กล้ามเนื้อ Ciliary muscle ลดลง ซึ่งส่งผลต่อการปรับกำลังโฟกัสของเลนส์ตา ในระยะใกล้ ทำได้ลดลง

Presbyopia

การแก้ไขปัญหาความผิดปกติจากการหักเหแสง (Refractive error )

 

 
. แก้ไขภายนอกร่างกาย
– ใช้เลนส์แว่นตา เพื่อปรับโฟกัสแสงก่อนที่จะกระทบสู่ระบบการหักเหของดวงตา เพื่อแก้ไขค่าสายตาที่ยังขาดเหลืออยู่ เพื่อให้แสงโฟกัสบนจุดรับภาพบนจอตาพอดี
สายตาสั้น ใช้เลนส์สายตาลบ หรือ เลนส์เว้า เพื่อย้ายจุดโฟกัสที่ตกกระทบก่อนถึงจอตา ให้ตกกระทบที่จอตาพอดี
สายตายาว ใช้เลนส์สายตาบวก หรือ เลนส์นูน เพื่อย้ายจุดโฟกัสที่ตกกระทบหลังจอตา ให้ตกกระทบที่จอตาพอดี
สายตาเอียง ใช้เลนส์กาบกล้วย เพื่อรวมโฟกัสของแสงที่ตกกระทบเป็นแนวเส้น 2 ระนาบ ให้เป็นจุดโฟกัสเดียวที่จอตา
สายตาชรา ตามวัย มักแก้ไขโดย ใช้เลนส์ชั้นเดียวหรือที่เรียกว่าเลนส์อ่านหนังสือ เลนส์สองชั้น หรือเลนส์โปรเกรสซีฟ
 
 

– คอนแทคเลนส์ เป็นเลนส์เล็กๆ วัสดุมีหลายชนิด แปะติดกับกระจกตา เพื่อรวมโฟกัสแสง ให้ตกที่จอตาพอดี ( ไม่ได้ลงรายละเอียดในที่นี้ )

 
 
. แก้ไขภายในร่างกาย
 
– RefractiveSurgery หรือ การผ่าตัดแก้ไขค่าสายตาที่ผิดปกติ โดยการปรับแต่งความโค้งกระจกตา ด้วยแสงเลเซอร์ ให้เหมาะสม เพื่อให้แสงโฟกัสที่จุดรับภาพบนจอตา พอดี เช่นการทำ PRK, LASIK , FemtoLASIK , Relex เป็นต้น
 
 
– ผ่าตัดใส่เลนส์แก้วตาเทียม ( Intra Ocular Lens)
 
ผ่าตัดใส่เลนส์เสริม  ICL  ( Implantable Collamer  lens )
 
สำหรับ บทความนี้คงพอสังเขปเท่านี้
ขอบคุณครับ
 
Chatchawee,O.D ,BS.(RT)
 
Credit
เนื้อความบางส่วนจาก เอกสารประกอบการเรียน วิชา Theoretical Optometry By Thongchai Ussarangchai,O.D. คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

 

ผู้สนใจเข้ารับบริการตรวจสายตา และระบบการมองเห็นโดยทัศนมาตร ณ คุณยาย OPTOMETRY ติดต่อนัดหมาย โทรศัพท์ : 062-125-2601

ที่ตั้ง : คุณยาย OPTOMETRY ภายในหมู่บ้าน Wize Signature เลขที่ 345/51 หมู่ 3 ถ.วงแหวนรอบนอก ต.สันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่